ผลที่ตามมา ของ การปล้นธนาคารในติฟลิส ค.ศ. 1907

แม้ว่าผู้ก่อการรายสำคัญนอกเหนือไปจากคาโมไม่ได้ถูกนำตัวมาพิจารณาคดี ความอื้อฉาวของการปล้นได้มีผลกระทบอย่างสำคัญต่อการเมืองภายในของทั้ง RSDLP และกลุ่มบอลเชวิคเอง[62]

ในตอนแรกยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าใครอยู่เบื้องหลังการปล้นดังกล่าว แต่หลังจากการจับกุมคาโม ลิตวินอฟและคนอื่น ๆ ความเชื่อมโยงของบอลเชวิคก็ได้ปรากฏเด่นชัด[7] หลังจากที่ค้นพบว่าบอลเชวิคมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล้นดังกล่าว เมนเชวิครู้สึกว่าถูกหักหลังและโกรธ เหตุการณ์ดังกล่าวบ่งบอกว่าศูนย์บอลเชวิคดำเนินการเป็นอิสระจากคณะกรรมการกลางร่วมและกระทำการอันถูกห้ามอย่างชัดเจนจากสภาพรรค[7] ผู้นำของเมนเชวิค จอร์จี เปลฮานอฟ เรียกร้องให้แยกตัวออกจากบอลเชวิค ผู้ร่วมงานของเปลฮานอฟ จูลีอุส มาร์ตอฟ เรียกศูนย์บอลเชวิคว่าเป็นอะไรสักอย่างระหว่างคณะกรรมการกลางมุ้งลับและแก๊งอาชญากร[7] คณะกรรมการติฟลิสของพรรคได้ขับสมาชิกพรรคหลายคน รวมทั้งสตาลิน จากการปล้นดังกล่าว และสมาชิกพรรคหลายคนได้สืบสวนเลนินและคนอื่น ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว[62][63] อย่างไรก็ตาม การสืบสวนภายในเหล่านี้ได้ถูกยับยั้งโดยบอลเชวิค ซึ่งทำให้ผู้สืบสวนไม่สามารถบรรลุเป้าหมายใด ๆ ได้[7]

การปล้นดังกล่าวทำให้บอลเชวิคยิ่งเสื่อมความนิยมในสังคมจอร์เจียมากยิ่งขึ้นไปอีก และทิ้งให้สมาชิกบอลเชวิคในติฟลิสไร้ซึ่งผู้นำที่มีประสิทธิผล หลังจากการปล้นและการเสียชีวิตของภรรยาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1907 สตาลินเดินทางกลับไปติฟลิสน้อยครั้งมาก ส่วนผู้นำบอลเชวิคคนอื่น ๆ ในจอร์เจีย อย่างเช่น มิฮาอิล ซฮาคายา และฟิลิปป์ มาฮารัดเซ ได้ตามรอยเดียวกันและอาศัยอยู่นอกประเทศจอร์เจียเป็นส่วนใหญ่นับตั้งแต่ ค.ศ. 1907 ส่วนบุคคลสำคัญอื่น ๆ ในหมู่บอลเชวิคติฟลิส สเตฟาน ชาฮุมยันย้ายไปยังบาคู ซึ่งทำให้เมนเชวิคจอร์เจีย พรรคคู่แข่งที่นิยมสังคมประชาธิปไตย ไม่มีคู่แข่งตัวฉกาจอีกต่อไป ต่อมาเมนเชวิคได้ปกครองจอร์เจียระหว่างที่ได้รับเอกราชช่วงสั้น ๆ ตั้งแต่ ค.ศ. 1918 ถึง 1921[64]

นอกเหนือจากผลร้ายที่เกิดขึ้นภายในพรรค การปล้นยังทำให้ศูนย์บอลเชวิคไม่เป็นที่นิยมในกลุ่มสังคมประชาธิปไตยทั่วทวีปยุโรป[7] ความต้องการของเลนินที่จะอยู่ห่างจากผลกระทบของการปล้นอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของความแตกร้าวระหว่างเขากับบอกดานอฟและคราซิน[7] ผลที่ตามมาคือ สตาลินแยกตัวออกจากแก๊งของคาโมและไม่ประกาศบทบาทของตนในการปล้นอีกเลย[62][65]

หลังการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 บอลเชวิคหลายคนที่มีส่วนในการปล้นได้รับอำนาจทางการเมืองในสหภาพโซเวียตซึ่งเพิ่งจะถูกตั้งใหม่ เลนินกลายมาเป็นผู้นำคนแรกของสหภาพโซเวียต หลังจากถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1924 สตาลินได้สืบทอดตำแหน่งผู้นำสหภาพโซเวียตจนกระทั่งเขาถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1953 มาซิม ลิตวินอฟได้เป็นเจ้าหน้าที่การทูตของโซเวียต และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (1930-39) เลโอนิด คราซินแต่เดิมเคยไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหลังจากแตกแยกกับเลนินใน ค.ศ. 1909 แต่ภายหลังได้กลับเข้าร่วมกับบอลเชวิคอีกครั้งหนึ่งหลังการปฏิวัติและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีการค้าต่างประเทศ

อเล็กซานเดอร์ บอกดานอฟ และคาโมได้รับความสำคัญน้อยกว่า บอกดานอฟถูกขับออกจากพรรคใน ค.ศ. 1909 เนื่องมาจากการแสดงออกซึ่งความแตกต่างทางปรัชญา หลังจากการปฏิวัติบอลเชวิค เขากลายมาเป็นผู้นำนักลัทธิโปรเลตคุลท์ องค์การซึ่งออกแบบมาเพื่อสนับสนุนวัฒนธรรมชนชั้นกรรมาชีพใหม่ คาโม หลังจากถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำและการก่อตั้งสหภาพโซเวียต ทำงานในสำนักงานศุลกากรโซเวียต บางส่วนเป็นเพราะเขามีจิตใจไม่มั่นคงเกินกว่าจะทำงานเป็นตำรวจลับได้[38] คาโมเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนใน ค.ศ. 1922 เมื่อรถบรรทุกชนเขาขณะที่กำลังปั่นจักรยานอยู่[38] ถึงแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานพิสูจน์ แต่บางคนตั้งทฤษฎีว่าการเสียชีวิตของคาโมไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นคำสั่งตายของสตาลิน[66][67]

จัตุรัสเยเรวาน ที่ซึ่งเกิดการปล้นขึ้น ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นจัตุรัสเลนินโดยทางการโซเวียตใน ค.ศ. 1921 และรูปปั้นเลนินขนาดใหญ่ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติใน ค.ศ. 1956[68][69] ยิ่งไปกว่านั้น คาโม ชายผู้ซึ่งถูกพิพากษาว่ามีความผิดและถูกตัดสินประหารชีวิตจากการปล้นในจัตุรัสนั้น ร่างถูกฝังและมีการตั้งอนุสาวรีย์ขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่เขาในสวนปุสกิน ใกล้กับจัตุรัสเยเรวาน[62][70] อนุสาวรีย์ของคาโมในภายหลังถูกย้ายออกไปในสมัยสตาลินและร่างของเขาถูกย้ายไปที่อื่น[67] อนุสาวรีย์เลนินถูกทลายลงในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1991 ในช่วงเดือนสุดท้ายของสหภาพโซเวียต และแทนที่ด้วยอนุสาวรีย์เสรีภาพเมื่อ ค.ศ. 2006 ชื่อของจัตุรัสถูกเปลี่ยนจากจัตุรัสเลนินเป็นจัตุรัสเสรีภาพใน ค.ศ. 1991[68][71]

แหล่งที่มา

WikiPedia: การปล้นธนาคารในติฟลิส ค.ศ. 1907 http://books.google.com/books/princeton?id=U_SU7fx... http://books.google.com/books?id=5F9eL9C2QzEC&pg=P... http://books.google.com/books?id=Jrkl5e1joNMC&prin... http://books.google.com/books?id=TdCK1WkconkC&pg=P... http://books.google.com/books?id=U8QG2BnQORkC&pg=P... http://books.google.com/books?id=cnGQl1fWE-wC&pg=P... http://books.google.com/books?id=j0PTAAAAMAAJ&q=ka... http://books.google.com/books?id=qQ6R4Fg6rh4C&pg=P... http://books.google.com/books?id=srEzMdMN-z0C&lpg=... http://books.google.com/books?id=zQL8POkFGIQC&pg=P...